“จดจำ”อุปกรณ์จดบันทึกเพื่อผู้พิการทางสายตาต้นทุนต่ำ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ออกแบบพัฒนา ‘จดจำ’ อุปกรณ์จดบันทึกสำหรับผู้พิการทางสายตาแบบต้นทุนต่ำ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำแก่เยาวชนและผู้พิการทางสายตาที่มีรายได้น้อยในการเข้าถึงเทคโนโลยี


Placeholder image


รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการทางสายตารวมกว่า 150,000 คน ในจำนวนนี้มีเด็กเพียง 2,000 คน หรือเฉลี่ยเพียง 200 คนต่อปีเท่านั้น ที่มีโอกาสได้อยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งเด็กตาบอดเหล่านี้จะต้องพบอุปสรรคในการเรียนหนังสือ เช่น การจดบันทึกในห้องเรียน โดยในต่างประเทศมีการใช้เทคโนโลยี Braille Note-Taker อุปกรณ์ช่วยการจดบันทึก ซึ่งมีราคานำเข้าที่สูงมาก ประมาณ 50,000 - 200,000 บาท

นอกจากนี้ ในประเทศไทยเองมีจำนวนผู้ใช้งานน้อย จึงไม่ดึงดูดให้เกิดงานวิจัยหรือพัฒนาเทคโนโลยีนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงปัญหา จึงออกแบบพัฒนาอุปกรณ์ ‘จดจำ’ ( Low-Cost Braille Note-Taker) แบบต้นทุนต่ำราคาหลักพัน เพื่อช่วยเหลือเยาวชนและผู้พิการทางสายตาในการจดบันทึก มุ่งเพิ่มคุณภาพชีวิตและโอกาสในการศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพและพึ่งพาตนเองได้ต่อไป นำพาสู่สังคมไทยที่เราทุกคนก้าวเดินไปด้วยกัน ผศ.ดร.เซง เลิศมโนรัตน์ หัวหน้าโครงการและอาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาว่า การวิจัยและพัฒนา ‘จดจำ’ อุปกรณ์จดบันทึก เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตานี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2555 และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ‘รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ’ ครั้งที่ 8 เมื่อปี 2555 จัดโดยมูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ

ทั้งนี้ในช่วงแรกของการพัฒนา‘จดจำ’ นั้นเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือสำหรับผู้พิการทางสายตายังมีข้อจำกัด ทำให้การใช้งาน ‘เครื่องจดจำ’ ยังไม่สามารถกระจายสู่สังคมวงกว้างได้ แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ (Smart Phone) ได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดและมีราคาไม่แพง อีกทั้งยังมีฟังก์ชั่นที่รองรับสำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งนอกจากจะใช้โทรศัพท์เพื่อพูดคุยสนทนาแล้ว ยังสามารถใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารผ่านข้อความตัวหนังสือได้ หรือโทรศัพท์สามารถอ่านข้อความให้ผู้พิการทางสายตาได้รับรู้ ด้วยเทคโนโลยีการสังเคราะห์เสียงพูดจากตัวหนังสือ (Text-to-Speech Synthesis) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้ผู้พิการทางสายตาใช้งานได้ลำบาก เช่น การพิมพ์ข้อความ ซึ่งต้องใช้การสัมผัสหน้าจอเคลื่อนที่หาทีละตัวอักษร ทำให้กินเวลานาน และไม่เหมาะกับการนำมาใช้บันทึก รวมถึงเทคโนโลยีการเปลี่ยนเสียงเป็นตัวอักษร (Speech to Text) ก็ยังคงมีข้อผิดพลาดและห้ามมีเสียงรอบข้างรบกวน

ทีมวิจัยวิศวะมหิดล จึงได้ออกแบบพัฒนาอุปกรณ์ ‘จดจำ’ ซึ่งเป็น Braille Note-Taker แบบต้นทุนต่ำสำหรับคนไทย เพื่อตอบโจทย์การจดบันทึกของผู้พิการทางสายตาแบบครบวงจร โดยเครื่อง ‘จดจำ’ มีลักษณะเป็น ‘แป้นพิมพ์ที่มีอักษรเบรลล์’ (Braille Keyboard) ข้อดี คือ มีหน่วยความจำในตัว สามารถจดบันทึก และส่งข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์ได้ ในรูปแบบไฟล์ตัวหนังสือ (Text File) รวมถึงสามารถใช้ควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือได้ สำหรับประโยชน์ ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาจดบันทึกได้สะดวก และสามารถใช้งานจากโทรศัพท์ของตนเองที่มีอยู่แล้วได้มากขึ้น ตัวเครื่องมีขนาดกะทัดรัดและพกพาง่าย (ขนาดเท่าโทรศัพท์มือถือ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้พิการในวัยเรียน จะสามารถเรียนรู้วิชาทางด้าน STEM ได้สะดวก พึ่งพาตนเองในการทำการบ้านได้เอง และช่วยลดภาระครูผู้สอนอีกด้วย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล เสนอแนวทางที่จะช่วยเหลือเด็กนักเรียนตาบอดทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าถึงอุปกรณ์นี้ได้ โดยเปิดให้สังคมได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนชีวิตและอนาคตที่ดีแก่ผู้พิการทางสายตา ผ่านทางโครงการ ‘จดจำทั่วไทย’ เพื่อผู้พิการทางสายตา โดยตั้งเป้าหมายจะส่งมอบจำนวน 200 คน/ปี ซึ่งขณะนี้ได้รับทุนบริจาคสนับสนุนรายแรกเพื่อผลิต ‘เครื่องจดจำ’ จำนวน 40 เครื่อง จาก บริษัท เอสแอนต์เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา โดยได้ส่งมอบล็อตแรกให้แก่ โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยาฯ จำนวน 20 เครื่อง สำหรับเด็กนักเรียนและครู นับเป็นโรงเรียนแรกที่ได้ใช้อุปกรณ์ ‘จดจำ’ และจะทยอยส่งมอบให้แก่โรงเรียนอื่นๆต่อไป


Placeholder image
Placeholder image



thansettakij.com แหล่งที่มา
 

 

25/25 Phuttamonthon 4 Road, Salaya, Nakhon Pathom 73170

02-8892225

electrical@mahidol.ac.th

https://www.eg.mahidol.ac.th/dept/egee

 

Placeholder image

 

 

Placeholder image